การสำรองข้อมูล (Backup) คือ การสร้างสำเนาของข้อมูล เพื่อเก็บไว้ในสถานที่อื่นที่แยกจากที่ต้นฉบับเก็บอยู่ เพื่อให้สามารถกู้คืนข้อมูลได้ในกรณีที่เกิดการสูญหาย ความเสียหาย หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความผิดพลาดของผู้ใช้งานเอง หรือการโจมตีทางไซเบอร์
การสำรองข้อมูลไม่เพียงแต่ช่วยให้มั่นใจว่าข้อมูลสามารถกู้คืนได้เมื่อจำเป็น แต่ยังช่วยให้สามารถรักษาความต่อเนื่องของธุรกิจหรือการทำงานได้ โดยไม่ต้องหยุดชะงักเมื่อมีการสูญเสียข้อมูลไป นอกจากนี้ การสำรองข้อมูลยังเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานต่างๆ ที่กำหนดให้องค์กรต้องปกป้องและเก็บรักษาข้อมูลไว้เป็นระยะเวลาหนึ่ง
ในปัจจุบัน มีวิธีการสำรองข้อมูลหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลภายนอก เช่น ฮาร์ดไดรฟ์ แฟลชไดรฟ์ หรือเทปสำรองข้อมูล ไปจนถึงการใช้บริการคลาวด์สำหรับการสำรองข้อมูลออนไลน์ ซึ่งช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ทุกเวลา และมีความยืดหยุ่นในการจัดการข้อมูลสำรอง
การสำรองข้อมูลที่มีประสิทธิภาพควรปฏิบัติตาม 3-2-1 Backup Rule ซึ่งหมายถึง การสำรองไว้ 3 copies บน 2 อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่ต่างกัน และ 1 ชุดสำรองเก็บไว้นอกพื้นที่ การสำรองตามกฎ 3-2-1 นี้ จะช่วยให้มั่นใจว่าข้อมูลจะไม่สูญหายแม้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น
สำหรับองค์กรที่มีข้อมูลจำนวนมาก การจัดการข้อมูลสำรอง อาจรวมถึงการใช้ซอฟต์แวร์สำรองข้อมูลที่มีความสามารถในการจัดการกระบวนการต่างๆ เช่น การขจัดข้อมูลซ้ำซ้อน การเข้ารหัสข้อมูล และการตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูล ซึ่งช่วยพื้นที่จัดเก็บที่ต้องใช้ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลที่สำรองไว้ด้วย
การสำรองข้อมูลเป็นส่วนสำคัญของการปกป้องข้อมูล และความต่อเนื่องทางธุรกิจ ในการทำงาน และควรได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากทุกองค์กร เพื่อมั่นใจว่าข้อมูลที่สำคัญจะได้รับการปกป้อง และสามารถกู้คืนได้อย่างรวดเร็ว และครบถ้วน เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
ที่มา : https://techspace.co.th/blog/what-is-backup-3-2-1-rule-backup-strategy/