สำหรับอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่เราเรียกกันว่า “แฟลชไดร์ฟ (Flash Drive), แฮนดี้ไดร์ฟ (Handy Drive) หรือ ทัมม์ไดร์ฟ (Thumb Drive)” (แล้วแต่เราจะเรียก) มันเป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลขนาดเล็กพกพาง่าย ที่ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้การเชื่อมต่อผ่าน พอร์ต USB จนหลายคนเรียกว่า “USB Flash Drive”
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ หลายคนได้เปลี่ยนไปใช้ บริการคลาวด์ ในการเก็บไฟล์แทนกันเยอะแล้ว แต่ในหลายสถานการณ์ การใช้งาน Flash Drive มันก็สะดวกกว่า อีกทั้งราคาของมันในตอนนี้ก็จัดว่าถูกมาก เริ่มต้นแค่ร้อยกว่าบาทก็สามารถซื้อหามาใช้งานได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม มีคำถามน่าสนใจที่ผู้ใช้มักจะสงสัยกัน นั่นคือ เจ้าอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ดูบอบบางอย่าง Flash Drive นั้น สามารถเก็บข้อมูลไฟล์เอาไว้ได้นานขนาดไหน ?
อย่างไรก็ตาม มีคำถามน่าสนใจที่ผู้ใช้มักจะสงสัยกัน นั่นคือ เจ้าอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ดูบอบบางอย่าง Flash Drive นั้น สามารถเก็บข้อมูลไฟล์เอาไว้ได้นานขนาดไหน ?
แฟลชไดร์ฟ สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างไร ?
(How does Flash Drive store data ?)
Flash Drive จะใช้สิ่งที่เรียกว่า “NAND Flash Memory” ในการบันทึกข้อมูล โดยมันสามารถเก็บข้อมูลเอาไว้ได้โดยที่ไม่ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าในการคงสถานะของข้อมูล มันจึงมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการนำมาผลิตเป็นที่เก็บข้อมูลแบบพกพาเป็นอย่างมาก
ภายใน NAND Flash Memory จะประกอบไปด้วยเซลล์ของหน่วยความจำ (Memory Cell) โดยแต่ละ Cell นี้จะมีการกักเก็บอิเล็กตรอนเอาไว้ใน “Float Gate” เพื่อใช้ในการแทนที่ค่า “1” และ “0” ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไป อิเล็กตรอนบางส่วนที่ถูกกักเอาไว้ก็สามารถที่จะ “หลุด” หนีรอดออกไปได้ ส่งผลให้การอ่านข้อมูลว่ามันมีค่าเป็น “1” หรือ “0” ทำได้ยากขึ้น
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเก็บข้อมูล ในแฟลชไดร์ฟ
(Factors that could effect Data Storage on Flash Drive)
อย่างที่เราได้อธิบายไปในหัวข้อที่แล้ว ว่าอิเล็กตรอนที่เก็บอยู่ในแต่ละ Memory Cell มันสามารถหลุดออกจากการถูกกักเอาไว้ได้ แต่ในสถานการณ์ปกติ มันก็จะต้องใช้เวลานานมากกว่าสถานะของมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงค่าได้
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถส่งผลให้มันเปลี่ยนแปลงไวขึ้นได้ เช่น
คุณภาพในการผลิต
คุณภาพของตัว NAND Flash Memory และองค์ประกอบต่าง ๆ ของตัวไดร์ฟ สามารถส่งผลต่อความทนทานในการเก็บรักษาข้อมูล แน่นอนว่า ของถูกที่ผลิตขึ้นมาแบบหยาบ ๆ ย่อมเสื่อมสภาพได้ไวกว่า
จำนวนรอบในการเขียนข้อมูล
หน่วยความจำแบบ Flash Memory มีจำนวนรอบในการเขียนข้อมูลได้แบบจำกัด เมื่อจำนวนรอบในการเขียนใกล้จะครบกำหนด ความเร็วในการเสื่อมสภาพของข้อมูลก็จะไวขึ้นเช่นกัน และเมื่อถึงจุดหนึ่งมันก็จะไม่สามารถอ่าน หรือเขียนข้อมูลได้อีกต่อไป
อุณหภูมิ
อุณหภูมิที่สูงมากเกินไปสามารถส่งผลกระทบต่อการเก็บรักษาข้อมูลของ Flash Drive ได้ โดยมันจะทำให้อิเล็กตรอนที่ถูกกักเอาไว้ “รั่ว” ได้ไวขึ้น เป็นเหตุให้ข้อมูลเสียหายได้
สภาพของตัวไดร์ฟ
ความชื้น, ฝุ่น และสภาพแวดล้อมรอบตัวไดร์ฟ สามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเก็บรักษาข้อมูลของไดร์ฟได้ทั้งสิ้น
แฟลชไดร์ฟ สามารถเก็บข้อมูลได้นานขนาดไหน ?
(How long does Flash Drive retain data ?)
เรียนตามตรงว่าคำถามนี้ ไม่มีคำตอบที่แน่นอน เพราะมันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่เราได้อธิบายไปในหัวข้อก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม หากเป็น Flash Drive ที่ได้มาตรฐาน และใช้งานแบบปกติ ไม่ได้เอาไปลุยแดด ลุยฝน หรือเขียนข้อมูลทั้งวันทุกวัน มันก็ควรจะสามารถใช้งานได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ส่วนใหญ่เราก็ ทำหายก่อนทำพัง กันอยู่แล้วล่ะมั้ง
ตัวเลข 10 ปีนี้ ไม่ใช่การคาดการณ์นะครับ แต่เป็นค่ามาตรฐานที่ถูกกำหนดโดยกลุ่ม JEDEC (สภาวิศวกรรมอุปกรณ์อิเล็กตรอนร่วม) ที่ระบุว่าชิปหน่วยความจำแบบ Flash Memory จะต้องผ่านการทดสอบที่เรียกว่า “Retention Bake” ซึ่งถ้าผ่านมาได้ก็หมายความว่า มันมีความทนทานในการเก็บรักษาข้อมูลได้มากกว่า 10 ปี อย่างแน่นอน
แต่นั่นมันก็เป็นการทดสอบภายในห้องทดลอง ในการใช้งานจริง มันอาจจะสั้น หรือนานกว่านั้นก็ได้ แต่เราก็สบายใจได้ว่ามันไม่ได้หายไปง่าย ๆ ถ้าเก็บรักษาดี ๆ 10 ปี ก็ไหวแน่นอน อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มันมีขนาดเล็ก และบอบบาง มันจึงเกิดความเสียหาย และสูญหายได้ง่าย ข้อมูลสำคัญเลยแนะนำว่า ไม่ควรเก็บรักษาเอาไว้ใน Flash Drive แม้มันจะเก็บข้อมูลได้นานกว่า 10 ปี ก็ตาม
การเก็บรักษาแฟลชไดร์ฟให้มีอายุยืนยาว ทำอย่างไร ?
(How to make Flash Drive last longer ?)
แม้เราจะไม่ควรหวังพึ่งพา USB Thumb Drives ในฐานะของสื่อเก็บข้อมูลในระยะยาว และมันก็มีราคาถูกมาก จนซื้อมาใช้แบบทิ้งขว้างได้ แต่ถ้าคุณต้องการใช้มันให้ได้นานที่สุด ก็มีคำแนะนำให้ ดังต่อไปนี้
ลงทุนกับคุณภาพ
ถึงแม้ว่ามันจะมีความจุเท่ากัน มาจากยี่ห้อเดียวกัน แต่ผู้ผลิตก็มีขายหลายรุ่น และราคาไม่เท่ากัน บางยี่ห้อจะมีแยกไลน์สินค้าเลย ว่าเป็นรุ่นที่ทนทานเป็นพิเศษ แต่แน่นอนว่าราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย หากอยากได้ของที่มีความทนทาน อย่างแรกก็ควรเริ่มจากการเลือกซื้อรุ่นที่มีคุณภาพสูง เลือกยี่ห้อที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับ อย่าเสี่ยงเลือกแบรนด์โนเนมที่ไม่รู้จัก
การเก็บรักษา
ควรเก็บรักษาเอาไว้ในที่เย็น และแห้ง และไม่ควรวางไว้ในที่โดนแดด หรือใกล้แหล่งความร้อนใดๆ และที่สำคัญ ไม่ควรเก็บในที่ชื้น
ถอดไดร์ฟอย่างถูกวิธี
ในการใช้งานปกติ หากไม่มีการอ่าน หรือเขียนข้อมูลในไดร์ฟอยู่ เราก็สามารถดึงมันออกได้เลย แต่บางทีมันอาจจะมีการอ่านเขียนข้อมูลไม่เสร็จ โดยที่เราลืมมันไป ซึ่งสามารถป้องกันข้อมูลเกิดความเสียหายจากการที่ไดร์ฟถูกถอดกะทันหัน ได้ด้วยการใช้คำสั่ง “Safety Remove Hardware” ก่อนที่จะถอดมันออก
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเราจะใช้อะไรในการเก็บข้อมูลก็ตาม ก็ควรหมั่นตรวจเช็คสุขภาพอุปกรณ์ และสำรองข้อมูลเป็นระยะเอาไว้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลอันมีค่าของเราสูญหาย จะได้ไม่ต้องลำบากหาทางกู้ข้อมูลในภายหลัง ซึ่งเป็นงานที่ยุ่งยาก และอาจต้องเสียเงินส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยในการกู้ข้อมูล