ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา กรณีการแฮกที่เป็นข่าวโด่งดังที่สุดในไทยคงจะหนีไม่พ้นกรณีที่แฮกเกอร์นั้นใช้วิธีหลอกลวงแบบ Phishing เพื่อล่อให้เหยื่อทำตามที่แฮกเกอร์สั่ง จนนำไปสู่การติดตั้งมัลแวร์ดูดเงินจากบัญชีธนาคารของเหยื่อ จนกลายเป็นข่าวโด่งดังชนิดที่ 1 เดือน ต้องมีข่าวแบบนี้อย่างน้อย 1 ข่าว แต่เชื่อหรือไม่ว่า กรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น กลับกันคือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมากมายทั่วโลก

จากงานวิจัยของบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อต้านไวรัสคอมพิวเตอร์ชื่อดัง Kaspersky ได้มีการค้นพบว่าการโจมตีของมัลแวร์ที่มุ่งเน้นในด้านขโมยเงินจากระบบ Mobile banking หรือแอปพลิเคชันธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ นั้นได้มีเพิ่มมากขึ้นถึง 32% ในปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) เมื่อเปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากรายงานวิจัยนั้น มัลแวร์ที่มีการระบาดสูงสุดคือ Bian.h ซึ่งเป็นมัลแวร์ประเภท Trojan ที่ลอบแฝงตัวเข้าเครื่องของเหยื่อเพื่อปฏิบัติการแฮกจากภายใน และมากกว่า 22% นั้นเกิดขึ้นบนอุปกรณ์ใช้ที่ระบบปฏิบัติการ Android

ซึ่งการระบาดของมัลแวร์บนเครื่องมือประเภทโทรศัพท์มือถือที่มีเพิ่มมากขึ้นนั้น เป็นเทรนด์ที่ตรงกันข้ามกับการระบาดของมัลแวร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ PC ที่พบว่า การระบาดนั้นลดลงถึง 11% เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันกับที่กล่าวไว้ข้างต้น

นอกจากนั้นแล้ว ทางทีมวิจัยยังระบุอีกว่า การระบาดของมัลแวร์ที่มุ่งเน้นในด้านการขโมยเงินของเหยื่อนั้นไม่ได้จำกัดแค่การโจมตีในส่วน Mobile banking โดยตรงเท่านั้นแต่ยังมีการโจมตีที่ครอบคลุมไปถึงการใช้แบรนด์ดังบนแพลตฟอร์ม e-Commerce ปลอม เพื่อหลอกดึงเงินจากบัญชี Paypal ของเหยื่ออีกด้วย

ในส่วนของคริปโตเคอร์เรนซี ที่กำลังเป็นกระแสการลงทุนที่มาแรงนั้น ทาง Kaspersky ก็มีการเปิดเผยว่า มีการโจมตีเพื่อขโมยเหรียญคริปโตที่เพิ่มขึ้นถึง 16% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มสแกมเมอร์ได้ปลอมตัวเป็นเว็บไซต์ซื้อขายแลกเปลี่ยน (Exchange) ชื่อดัง หรือแม้แต่หลอกว่าเป็นบรรษัทการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อหลอกล่อเอาเงินจากเหยื่ออีกด้วย

ซึ่งเป้าหมายในการขโมยเงินของเหยื่อนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงธุรกิจในทุกขนาดอีกด้วย ซึ่งทางทีมวิจัยนั้นได้ออกคำเตือนว่า ให้ทุกคนมีความระมัดระวังต่อพฤติกรรมน่าสงสัยต่าง ๆ รวมทั้งอัปเดตระบบความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมการใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว