129 ปี กระทรวงยุติธรรม

ประวัติกระทรวงยุติธรรม

ลักษณะการปกครองของไทยในสมัยสุโขทัยยุคแรก สภาพสังคมและการจัดระเบียบการบริหาร ราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างเรียบง่ายการใช้อำนาจตุลาการเป็นไปในลักษณะการชำระความแบบพ่อปกครองลูก ในยุค สุโขทัยตอนปลายรูปแบบการปกครองได้พัฒนาขึ้นมาอย่างมีแบบแผนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เริ่มใหญ่โตขึ้น โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 4 กรม คือ เวียง วัง คลัง นา โดยมีเสนาบดีกรมวังเป็นผู้ชำระความแทนพระมหากษัตริย์ แต่อำนาจทางตุลาการอย่างเด็ดขาดขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์ ต่อมาในสมัยกรุงศรี รูปแบบการชำระความได้ปรับปรุงอย่างเป็นแบบแผนมากขึ้น จนกระทั่งได้มีการจัดตั้งศาล ขึ้นเป็นครั้งแรก และเริ่มมีศาลในกรมอื่นๆตามมา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์การจัดการศาลเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นและเกิดปัญหาต่างๆตามมาจนทำให้ประเทศไทย ประสบวิกฤตทางการศาลในยุคพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสาเหตุสำคัญดังนี้คือ

1. ความไม่เหมาะสมของระบบการศาลเดิม
                ระบบศาลที่มีศาลแยกย้ายกันอยู่ตามกระทรวงกรมต่างๆ มากมายและระบบการดำเนินกระบวนการพิจารณาและ พิพากษาคดีที่ต้องทำงานร่วมกันหลายหน่วยงานจึงทำให้การพิจารณาคดีเกิดความล่าช้าสับสน และยังก่อให้เกิดปัญหาเรื่องอำนาจศาล

2. ความไม่เหมาะสมของวิธีพิจารณาความแบบเดิม
วิธีพิจารณาและพิพากษาคดี รวมถึงการลงโทษขาดความเหมาะสมและไม่เป็นธรรม คดีเกิดความล่าช้า และจำนวนคดีความก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

3. ความบีบคั้นจากต่างประเทศในด้านการศาล
อันเนื่องจากชาวต่างประเทศมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาในการ ปกครองประเทศเป็นอันมาก เพราะ กงสุลต่างประเทศถือโอกาสตีความสนธิสัญญา และไม่เคารพ ยำเกรง ต่อกฎหมายและการศาลไทย

จึงทำให้ประเทศไทยต้องปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลไทยใหม่อย่างเร่งด่วน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434 (รศ. 110) มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมศาลที่กระจัดกระจายตามกระทรวงต่างๆ เข้ามาไว้ในกระทรวงยุติธรรม ให้มีเสนาบดีเป็นประธาน เพื่อที่จะจัดวางรูปแบบศาลและกำหนดวิธีพิจารณาคดีขึ้นใหม่ โดยมีกรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมคนแรก ได้ทรงวางระเบียบศาลตามแบบใหม่ ซึ่งเดิมตามประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมมีศาลทั้งหมด 16 ศาล ให้รวมมาเป็นศาลสถิตย์ยุติธรรมให้เหลือเพียง 7 ศาล คือ

– ยกศาลฎีกา เรียกเป็น ศาลอุทธรณ์คดีหลวงศาลอุทธรณ์มหาดไทย เรียกเป็น อุทธรณ์คดีราษฎร์
– ศาลนครบาล กับศาลอาญานอก รวมเรียกว่า ศาลพระราชอาญา
– ศาลแพ่งเกษม ศาลกรมวัง ศาลกรมนา รวมเรียกว่า ศาลแพ่งเกษม
– ศาลแพ่งกลาง ศาลกรมท่ากลาง ศาลกรมท่าซ้าย ศาลกรมท่าขวา ศาลธรรมการ และ ศาลราชตระกูล รวมเรียกว่า ศาลแพ่งกลาง
– ศาลสรรพากร ศาลมรฎก รวมเรียกว่า ศาลสรรพากร
– ศาลต่างประเทศ คงไว้ตามเดิม

ต่อมาสมัยพระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ พระเจ้าบรมวงวศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นเสนาบดี รศ. 115 – รศ. 116 ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นในกระทรวงยุติธรรมเพื่อสั่งสอนวิชากฎหมายตามแบบอารยประเทศโดยทรงสอน วิชากฎหมายและเรียบเรียงตำรากฎหมายต่างๆ ไว้มากมาย จึงได้รับสมัญญาว่าเป็นบรมครูกฎหมาย

ในปี พ.ศ. 2451 (รศ. 127) ได้มีประกาศให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณา ความแพ่ง รศ. 127 เปลี่ยนแปลงและปรับปรุงราชการกระทรวงยุติธรรมและศาลยุติธรรมให้ดีขึ้น ให้ศาล ทั้งหมดตามประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรมให้ยกเสีย คงให้แบ่งเป็น ศาลฎีการับผิดชอบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว และให้มีศาลขึ้นอยู่ในกระทรวงยุติธรรม 2 ประเภท คือ ศาลสถิตย์ยุติธรรมกรุงเทพฯ ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ ศาลพระราชอาญา ศาลแพ่ง ศาลต่างประเทศ และศาลโปริสภา กับศาลหัวเมือง ต่อมาได้มีประกาศจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2455 แยกหน้าที่ ราชการกระทรวงยุติธรรมเป็นธุรการส่วนหนึ่งและฝ่ายตุลาการอีกส่วนหนึ่งและยกศาลฎีกามารวมอยู่ในกระทรวงยุติธรรม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งอธิบดีศาลฎีกาเป็นประธานในแผนกตุลาการ โดยกรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ทรง ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น อธิบดีศาลฎีกาคนแรก ในส่วนระเบียบราชการนั้น ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจและหน้าที่บังคับบัญชาราชการและรับผิดชอบในบรรดาราชการที่เป็นส่วนธุรการทั่วไป แต่ในส่วนที่เป็นตุลาการ ให้เสนาบดีเป็นที่ปรึกษาหารือและฟังความเห็นอธิบดีศาลฎีกาแล้ววินิจฉัยไปตามที่ตกลงกัน ถ้ามีความเห็นแตกต่างกัน ให้เสนาบดีพร้อมอธิบดีศาลฎีกา นำความกราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติ

นอกจากนี้ให้ศาลฎีกา มีหน้าที่ดำริวาง ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการ และนำความเห็นเสนอเสนาบดี ตลอดจนการตั้ง การเลื่อน หรือเปลี่ยนตำแหน่ง ผู้พิพากษา ส่วนการแก้ข้อขัดข้องปัญหากฎหมายให้เป็นหน้าที่อธิบดีศาลฎีกา เป็นผู้วินิจฉัย ถ้ามีข้อใดจำต้องเรียน พระราชปฏิบัติ ให้อธิบดีศาลฎีกานำความขึ้นกราบบังคมทูล จนในปี พ.ศ. 2471จึงได้ยกเลิกประกาศจัดระเบียบ ราชการกระทรวงยุติธรรม ฉบับ พ.ศ. 2455 ด้วยการประกาศจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรม ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2471 ที่กำหนดให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน มีหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชาข้าราชการ ฝ่ายธุรการและตุลาการที่นอกจากการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลซึ่งเป็นอำนาจอิสระของผู้พิพากษา แต่เพื่อให้เสนาบดี มีโอกาสตรวจตราราชการในศาลยุติธรรมให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จึงให้เสนาบดีมีอำนาจนั่งกำกับการพิจารณาปรึกษาคดี ในศาลยุติธรรมได้ทุกศาล

และในเวลาต่อมาได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติข้าราชการฝ่ายตุลาการ เพื่อปรับปรุง แก้ไขระเบียบราชการตุลาการให้เหมาะสมแก่กาลสมัยและส่งเสริมสมรรถภาพของผู้พิพากษา ตลอดจนการกวดขันในเรื่อง วินัยและมารยาทเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเที่ยงธรรมและเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในราชการศาลยุติธรรม จึงได้มีประกาศใช้ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2477 ให้เรียกศาลที่สังกัดกระทรวงยุติธรรมว่า ศาลยุติธรรม และให้แบ่งศาลออกเป็น 3 ชั้นคือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยศาลชั้นต้นจะแบ่งเป็นศาลในกรุงเทพฯและศาลในหัวเมือง ตามพระธรรมนูญยุติธรรมวรรคหนึ่งบัญญัติว่า ศาลยุติธรรมทั้งหลายตามพระธรรมนูญนี้ให้สังกัดกระทรวงยุติธรรม ดังนั้นจึงหมายรวมไปถึงศาลอื่นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้น ๆ ด้วย แต่ไม่รวมศาลทหาร ซึ่งสังกัดอยู่กับ กระทรวงกลาโหม ระบบศาลยุติธรรมได้มีวิวัฒนาการจนมีความเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาโดยการแก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรมอีกหลายครั้ง และได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเพื่ออำนวยความ ยุติธรรมแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีอย่างเสมอภาคเป็นธรรมรวดเร็ว และทั่วถึงโดยมีประธานศาลฎีกาเป็นผู้วาง ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลทั้งหมด ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง เนติบัญญัติยสภาขึ้น เป็นสภาในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์และการว่าความ ควบคุมความประพฤติของทนายความให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยทนายความ ในปี พ.ศ. 2491 ปัจจุบันเรียกว่า สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัญฑิตยสภา

อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2495 ได้มีการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกคดีเด็ก และเยาวชนในศาลจังหวัดขึ้นอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันศาลคดีเด็กและเยาวชนได้เปลี่ยนเป็นศาลเยาวชนและครอบครัว และแผนกคดีเด็กและเยาวชนในศาลจังหวัดเปลี่ยนเป็นศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534

ในส่วนของศาลชำนัญพิเศษ ได้จัดให้มีศาลพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาคดีที่มีลักษณะพิเศษออกไปจากคดีธรรมดา เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีได้รับการพิจารณาจากผู้พิพากษาที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะเรื่อง โดยมีศาลชำนัญพิเศษ 4 ศาล คือ ศาลแรงงานกลาง ศาลภาษีอากรกลาง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า ระหว่างประเทศกลาง และศาลล้มละลายกลาง ซึ่งสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรมทั้งสิ้น ปัจจุบันศาลทั่วราชอาณาจักร มีจำนวน 196 ศาล เป็นศาลฎีกา 1 ศาล ศาลอุทธรณ์ 10 ศาล ศาลชั้นต้น 185 ศาล

ในปี พ.ศ. 2534 ได้มีการตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 มาตรา 21 บัญญัติให้ กระทรวงยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรมแต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาคดี โดยมีบทบาทสำคัญ ในการบริหารจัดการ การจัดระบบบริหารงานบุคคลและจัดอัตรากำลัง มีระบบการศาลที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจน สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้พิพากษาสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้โดยสะดวกรวดเร็วและเที่ยงธรรม และสามารถ อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบกิจการทั้งปวง และกำหนดให้กระทรวงยุติธรรมมีภารกิจหลัก ดังนี้

1.ธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมาย
2.อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างเสมอภาค เป็นธรรมและรวดเร็ว รวมถึงการขยายงานของ ศาลออกไปอย่างทั่วถึง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และพัฒนาระบบการพิจารณา พิพากษาคดีให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
3. รักษาสถาบันตุลาการให้มีเกียรติ ศักดิ์ศรี สามารถดำรงตนเป็นอิสระเพื่อการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ได้อย่างเป็นธรรม
4. ปรับปรุงแก้ไขและเสนอกฎหมาย ให้มีความเป็นธรรมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม
5. พัฒนางานสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรม ได้แก่ งานบังคับคดีและพิทักษ์ทรัพย์ งานคุมประพฤติ ผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ งานพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก เยาวชนและครอบครัว การระงับข้อพิพาททาง แพ่งโดยวิธีอนุญาตโตตุลาการ รวมทั้งสรรหามาตรการสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรมอื่นๆ เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
6. ส่งเสริมให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดในสังคมร่วมกับชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
7. พัฒนาระบบการบริหารและการปฏิบัติราชการให้ทันสมัย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการและประชาชน
8.พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติและจริยธรรมให้เหมาะสมกับการปฏิบัติราชการอย่างมีประสิทธิภาพ ซื่อสัตย์ สุจริต อุทิศตนให้แก่ราชการ รวมทั้งการเสริมสร้างคุณธรรมและสร้างความภาคภูมิใจใน สภานภาพและบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย
9. มุ่งเน้นการให้บริการแก่ประชาชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรมและปลอดภัย และส่งเสริมการให้ความรู้ ความเข้าใจในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมแก่ประชาชน

ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 ได้กำหนดให้กระทรวงยุติธรรมมีส่วนราชการ ดังนี้

1.สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับราชการทางการเมือง การรับเรื่องการร้องทุกข์และประมวลความคิดเห็นเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะได้กำหนดนโยบายในการ บริหารงานได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง
2.สำนักงานปลัดกระทรวง มีหน้าที่ความรับผิดชอบในงานธุรการของศาลทั้งหลาย และบริหารงานธุรการของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษา ภาครวมทั้งงานธุรการของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย
3.กรมบังคับคดี มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานบังคับคดีแพ่ง งานบังคับคดีล้มละลายของศาลทั่วราชอาณาจักร และสำนักงาน วางทรัพย์ ตลอดจนทำหน้าที่ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนบริษัทหรือนิติบุคคลอื่นในฐานะผู้ชำระบัญชีตามคำสั่งของศาล
4.สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายทั้งในและต่างประเทศให้แก่กระทรวงฯ ศึกษาวิจัยและเสนอแนะเกี่ยวกับระบบงานของศาลและกระทรวงยุติธรรม ปฏิบัติงาน ธุรการให้แก่คณะกรรมการตุลาการ จัดการฝึกอบรมและพัฒนาข้าราชการของกระทรวงยุติธรรม ดำเนินงานห้องสมุดของกระทรวงยุติธรรม
5.กรมคุมประพฤติ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการส่งเสริมสนับสนุนเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูและ สงเคราะห์ผู้กระทำความผิด พัฒนาระบบรูปแบบและวิธีการคุมประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ ประสานแผนของกรมให้สอดคลองกับนโยบายและแผนแม่บทกระทรวง รวมทั้งติดตามและประเมินผล และดำเนินการเกี่ยวกับการสืบเสาะและพินิจ การควบคุมและสอดส่อง การแก้ไขฟื้นฟูและสงเคราะห์ผู้กระทำผิด

สถานที่ตั้งกระทรวงยุติธรรม

เดิมกระทรวงยุติธรรมตั้งอยู่ถนนราชินี เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (สนามหลวง) ต่อมาใน วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2536 ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษก อาคารศาลอาญา แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เนื่องจากขณะนั้นมีจำนวนคดีที่ศาลแพ่ง และศาลอาญาต้องพิจารณามีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อแบ่งเบาภาระศาลแพ่งและศาลอาญา กระทรวงยุติธรรมจึงมีนโยบายเร่งเปิดศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ขึ้น โดยใช้อาคารกระทรวงยุติธรรมเดิมเป็นที่ทำการของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ประกอบกับขณะนั้นอาคารศาลอาญาบริเวณถนนรัชดาภิเษก ได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงมีพื้นที่ว่างพอที่จะย้ายไปทำการยังอาคารศาลอาญาดังกล่าว และภายหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่อง การแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรมมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2543 กระทรวงยุติธรรมจึงได้ย้ายออกจากอาคารศาลอาญามาเช่าอาคารที่ทำการชั่วคราวที่อาคารซอร์ฟแวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ส่วนอาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรมถาวร กระทรวงยุติธรรม มีโครงการที่จะก่อสร้างที่ราชพัสดุ บริเวณศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ

การแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองของประเทศให้มีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญและ มาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระโดยจัดตั้งเป็น สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น จึงทำให้กระทรวงยุติธรรมไม่มีภารกิจในการเป็นหน่วยงานธุรการให้กับศาลยุติธรรมอีกต่อไป การแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2543 และผลของพระราชบัญญัติระเบียบราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 จึงทำให้กระทรวงยุติธรรมเหลือหน่วยงานในสังกัด 3 หน่วยงาน ซึ่งได้แก่

– สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
– กรมคุมประพฤติ
– กรมบังคับคดี

ส่วนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นหน่วยงานระดับกองขึ้นตรงต่อสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 32 ได้กำหนดให้ กระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรม เสริมสร้างและอำนวยความยุติธรรมในสังคม และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยมาตรา 33 ได้กำหนดให้ กระทรวงยุติธรรมมีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

1. ส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม มีดังต่อไปนี้

– สำนักงานรัฐมนตรี
– สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
– กรมคุมประพฤติ
– กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
– กรมบังคับคดี
– กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
– กรมราชทัณฑ์
– กรมสอบสวนคดีพิเศษ
– สำนักกิจการยุติธรรม
– สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

2. ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมที่ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี ได้แก่

– สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

3. ส่วนราชการที่ไม่สังกัดกระทรวงยุติธรรมแต่ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี ได้แก่

– สำนักงานอัยการสูงสุด
– สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*