วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี มอบหมายให้นางสาวทัศนาวลัย กุสุโมทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 2 และนางสาวศิริขวัญ แสงจันทร์ นิติกรชำนาญการ กองพัฒนาระบบการบังคับคดี เข้าร่วมการประชุมคองเกรสนานาชาติของสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 25 (25th International Congress of Judicial Offices) ในฐานะที่ประเทศไทย โดยกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นสมาชิกถาวรของสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 8 – 10 พฤษภาคม 2567 ณ เมืองรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ในช่วงพิธีเปิดการประชุม ฯ Mr. Marc Schmitz ประธานสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้กล่าวต้อนรับสมาชิกจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และกล่าวถึงหัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้ ได้แก่ “เจ้าพนักงานบังคับคดี: บุคคลที่สามที่เชื่อถือได้ (The judicial officer: The trusted third party)” โดยเน้นย้ำว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินงานโดยเป็นอิสระจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม หลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นมืออาชีพ ทั้งนี้ จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม โดยวางตนเป็นกลางและเป็นบุคคลที่สามที่น่าเชื่อถือได้ระหว่างคู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดี นอกจากนี้ สภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศได้รายงานกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ถึงปัจจุบัน และนำเสนอหัวข้อการอภิปรายที่เป็นประเด็นน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น มาตรฐานวิชาชีพ: สิ่งรับประกันความเป็นเลิศทางกฎหมาย การปฏิวัติหรือวิวัฒนาการที่จำเป็นสำหรับการฝึกอบรมเบื้องต้นและการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือระหว่างประเทศ: เสาหลักที่จำเป็นแห่งความไว้วางใจ และความหลากหลายทางวิชาชีพ: หัวใจสำคัญของความทันสมัย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงข้อมูลสู่ระบบดิจิทัล: โอกาสและความท้าทายของเจ้าพนักงานบังคับคดี ในช่วงสุดท้ายของการประชุม สมาชิกจากหลากหลายประเทศได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการโพสต์เรื่องราวที่เป็นส่วนตัวในที่สาธารณะหรือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ด้วย