กรมบังคับคดีเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL) คณะทำงาน 5 ว่าด้วยกฎหมายล้มละลาย (Working Group V: Insolvency Law) สมัยที่ 63

กรมบังคับคดีเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL) คณะทำงาน 5 ว่าด้วยกฎหมายล้มละลาย (Working Group V: Insolvency Law) สมัยที่ 63 คณะผู้แทนกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม โดยนายปิยชาต สงวนหงษ์ ผู้อำนวยการกองบังคับคดีล้มละลาย 2 และนางสาวศุภนิดา แก้วบุบผา นิติกรชำนาญการ กองพัฒนาระบบการบังคับคดี และผู้แทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม เข้าร่วมการประชุมคณะทำงาน 5 ว่าด้วยกฎหมายล้มละลาย (Working Group V: Insolvency Law) สมัยที่ 63 ของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (United Nations Commission on International Trade Law – UNCITRAL) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 15 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุม Vienna International Centre กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย อันมีวัตถุประสงค์เพื่อวางแนวทางที่เป็นสากลในการดำเนินการกับปัญหาหรือประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการล้มละลาย ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นต่อเนื่องจากการประชุมในสมัยที่ 62 ได้แก่ (1) ร่างเอกสารว่าด้วยการติดตามและนำทรัพย์สินทางแพ่งกลับคืนมาในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย (Draft text on Civil asset tracing and recovery in insolvency proceedings) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลายด้วยการแสดงให้เห็นตัวอย่างรายการเครื่องมือซึ่งเขตอำนาจศาลต่าง ๆ ทั่วโลกใช้บังคับในการติดตามทรัพย์สิน โดยในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ขอให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำสารบัญของเอกสารเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถใช้งานเอกสารได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงคำอธิบายความหมายของคำศัพท์เฉพาะซึ่งเป็นภาษาละตินให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งได้เน้นย้ำถึงคุณลักษณะสำคัญของร่างเอกสารฉบับนี้ว่า เป็นเอกสารที่มุ่งเน้นให้ความรู้และให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ปรับปรุงขอบเขตของเนื้อหาให้ไม่ครอบคลุมถึงธนาคาร สถาบันการเงิน สถาบันประกันภัย และสถาบันอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแล เพื่อให้สอดคล้องกับเอกสารอื่นของ UNCITRAL รวมทั้งเห็นชอบให้ร่างเอกสารมีเนื้อหาครอบคลุมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้ติดตามผลการพิจารณาประเด็นสินทรัพย์ดิจิทัลของคณะทำงานของ UNIDROIT ซึ่งคาดว่าจะพร้อมให้ที่ประชุมพิจารณาได้ในการประชุมสมัยถัดไป และให้แยกภาคผนวก 1 ท้ายร่างเอกสารออกเป็นเอกสารใหม่ ทั้งนี้ จะพิจารณาถึงรูปแบบสุดท้ายของเอกสารว่าด้วยการติดตามและนำทรัพย์สินทางแพ่งกลับคืนมาในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายในภายหลัง (2) ร่างข้อบททางกฎหมายและคำอธิบายประกอบว่าด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับในกระบวนการล้มละลาย (Draft legislative provisions with accompanying commentary on Applicable law in insolvency proceedings) ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงบทนำของเอกสารเสียใหม่ และให้ปรับปรุงนิยามคำศัพท์เฉพาะภาษาละตินและการใช้ถ้อยคำในร่างเอกสารให้มีความชัดเจน สม่ำเสมอและสอดคล้องกันทั้งเอกสารมากยิ่งขึ้น ที่ประชุมได้ให้แนวทางแก่ฝ่ายเลขานุการในการยกร่างเนื้อหาเอกสารในหมวด 2 กฎหมายที่ใช้บังคับในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย โดยเฉพาะในหัวข้อย่อยเรื่องหลักกฎหมายล้มละลายแห่งรัฐที่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาหลัก และข้อยกเว้นสำหรับกระบวนพิจารณาข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการที่อยู่ระหว่างพิจารณา รวมทั้งกำหนดแนวทางในการยกร่างหมวด 3 ว่าด้วยการยอมรับการมีผลบังคับใช้ข้ามชาติและกระบวนการบังคับคดีเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป รวมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเคารพความแตกต่างในขอบเขตข้อยกเว้นนโยบายสาธารณะภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยที่ประชุมจะพิจารณาถึงรูปแบบสุดท้ายของเอกสารร่างข้อบททางกฎหมายและคำอธิบายประกอบว่าด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับในกระบวนการล้มละลายในภายหลัง ทั้งนี้ เนื่องจากที่ประชุมไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ในประเด็นกฎหมายที่จะใช้บังคับกับกรณีของเจ้าหนี้มีประกันและทรัพยสิทธิ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันให้ฝ่ายเลขานุการจัดให้มี inter-session ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทางออนไลน์เพื่อหาข้อยุติในเบื้องต้น